“ป่าในเมือง” (Urban Forest)
ในปัจจุบัน เมืองมีการขยายตัวเข้าไปในพื้นที่ชนบท รวมถึงประชาชนต้องการย้ายถิ่นฐาน เข้ามาอยู่อาศัยในตัวเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงของประเทศ คือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือตัวเมืองระดับจังหวัด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของความเจริญมากมายหลายด้าน เมื่อผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองมากขึ้นจนเกิดความแออัด และในอนาคตคาดว่าจะมีประชากรย้ายเข้ามาอาศัยในเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่ปัญหาต่อความเป็นอยู่ที่แออัดและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม อาทิ มลพิษทางอากาศและเสียงจากรถติด ขยะจากชุมชน และน้ำเสียจากสถานประกอบการ/โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น จนทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้รับผลกระทบจนเกิดความเครียดและความวิตกกังวลจากการใช้ชีวิตรอบด้าน ที่มาบั่นทอนจิตใจ ด้วยเหตุนี้ คนที่อยู่ในเมืองจึงต้องการแหล่งพักผ่อนหย่อนใจเพื่อรับการผ่อนคลาย หากจะ อุดอู้หรืออยู่แต่ในบ้านก็คงน่าเบื่อเกินไป “ป่าในเมือง” จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการตอบสนองไลฟสไตล์คนเมือง เพราะนอกจากจะช่วยเยียวยาสุขภาพทางกายและใจแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้พื้นที่บริเวณนั้นน่าอยู่ยิ่งขึ้น เพราะองค์ประกอบของป่าในเมืองก็คือเป็นการสร้างป่าให้เหมือนกับป่าธรรมชาติจริง ๆ ทำให้มีระบบนิเวศ พันธุ์ไม้ และพันธุ์สัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ร่วมกันก่อเกิดเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ
“ป่าในเมือง” เป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าไม้ที่ตั้งอยู่ในเมืองหรือใกล้เมือง โดยหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และชุมชน ร่วมกันสร้างให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ตามความเหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ศึกษาธรรมชาติ ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากรในเมืองว่าควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตร/คน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวและใช้ประโยชน์ ได้อย่างเต็มที่ โดยในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,568.737 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์กว่า 6 ล้านคน รวมประชากรแฝงแล้วอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน และในปี 2564 พบว่า กรุงเทพมหานครมีจำนวนพื้นที่สีเขียว 40,959,569.91 ตารางเมตร คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 7.33 ตารางเมตร/คน ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ WHO กำหนดไว้ ทำให้ต้องหาทางพัฒนาพื้นที่เมืองเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน และคาดว่าในอนาคตจำนวนพื้นที่สีเขียวและสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นตัวอย่างนโยบายของกรุงเทพมหานครที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ GREEN BANGKOK 2030 เพื่อบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีศักยภาพและมีจิตสาธารณะในการร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าบรรลุโครงการในปี 2573 ใน 3 เป้าหมาย ได้แก่ (1) เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ 10 ตร.ม./คน (2) มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในระยะเดิน 400 เมตร หรือ 5 นาที ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่กรุงเทพฯ และ (3) พื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของพื้นที่กรุงเทพฯ
เนื่องจากความหนาแน่นของจำนวนประชากร ทำให้กรุงเทพมหานครต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย พื้นที่ประกอบธุรกิจการค้า การขนส่ง ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ จากการเติบโตในทุก ๆ ด้าน ส่งผลให้พื้นที่สีเขียวของเมืองมีปริมาณลดลง กรุงเทพมหานครจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองและมองเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ เช่น พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ระหว่างอาคารพื้นที่หน้าอาคาร พื้นที่ทางเท้า พื้นที่ริมคลองต่าง ๆ มุ่งผลักดันการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน และให้ได้ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ว่างเปล่าที่รอการพัฒนาอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ดินของภาครัฐ เช่น ที่ดินของส่วนราชการ กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน ที่ดินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงที่ดินแปลงย่อยของประชาชนทั่วไป ที่ดินเหล่านี้ล้วนแต่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวของเมืองได้เป็นอย่างดี จึงได้ทำการสำรวจพื้นที่ว่างเปล่าที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ อย่างภาคเอกชน เช่น ปตท. ที่จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงที่สร้างบนที่ดินกว่า 12 ไร่ ของ ปตท. ที่ตั้งใจให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องป่าและการปลูกป่าเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนที่ผสมผสานความสวยงามด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่ออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด และเป็นต้นแบบนวัตกรรมอาคารเขียว รวมถึงเป็นพื้นที่สีเขียวและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้คนกรุงเทพฯ หรือเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในเมืองได้มีโอกาสใกล้ชิด รู้จัก และสัมผัสป่าอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องเดินทางไกล ได้ตระหนักและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และคาดว่าในอนาคตพื้นที่ป่าแห่งนี้ จะเติบโตและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับเมืองกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ที่กำลังเดินหน้าสร้างแลนด์มาร์กสีเขียวแห่งใหม่ ภายใต้แนวคิด “เมืองในธรรมชาติ” โดยการเพิ่มเขตอนุรักษ์ป่าและพันธุ์สัตว์ พร้อมส่งเสริมวิถีท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดธรรมชาติในพื้นที่เมือง ถึงแม้สิงคโปร์ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างตึกสูงทันสมัยและมีประชากรหนาแน่น แต่ขณะนี้ สิงคโปร์กำลังเตรียมตัวแปลงโฉมพัฒนาประเทศให้กลายเป็น “เมืองในธรรมชาติ” (City in Nature) ภายในปี 2573 ภายใต้จุดยืนที่ว่าการพัฒนาเมืองต้องควบคู่ไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี
บทความ
-
ขยะทะเล…แก้ได้ที่ตัวเรา
By Mr. John 3h ago -
E-Waste ขยะใกล้ตัวที่รอการแก้ปัญหา
By Mr. John 3h ago -
การบริหารจัดการนำ้
By Mr. John 3h ago -
ขยะพลาสติก
By Mr. John 3h ago